วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เพื่อนธรรม ขอบคุณ ยามเช้า 17 Jun 2010

ป ฏิ บั ติ ส ม่ำ เ ส ม อ
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)

วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
http://kicen/index.php?option=com_content&view=article&id=796:feng-feng&catid=49:dharma-column-&Itemid=87

บางคนคิดว่า การปฏิบัติกรรมฐานคือ
การเดินจงกรมและนั่งสมาธิเท่านั้น

แต่หลวงพ่อเน้นว่าการปฏิบัติอยู่ที่สติมากกว่าที่อิริยาบถ

อย่างที่ท่านเทศน์ในตอนหนึ่งว่า

“ไม่ใช่เดินเพียร นั่งเพียร แต่รู้เพียร”

คือ ฝึกให้มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมทุกอิริยาบถ
ไม่ใช่เฉพาะเวลานั่งสมาธิ หรือเดินจงกรมเท่านั้นเคล็ดลับของท่านก็คือ

ปฏิบัติเรื่อยไปอย่างสม่ำเสมอ
ไม่เคร่งเกินไป แต่ก็ไม่หย่อน
ให้พอดีแก่การขัดเกลากิเลส
จึงจะเรียกว่า เป็นสัมมาปฏิปทา เพราะว่า

“การทำความเพียร ไม่ได้ขีดขั้น
จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ได้ทั้งหมดนั้น
แม้กวาดลานวัดอยู่ก็บรรลุธรรมะได้
แม้แต่เพียงมองเห็นแสงพยับแดดเท่านั้น ก็บรรลุธรรมะได้

จะต้องมีสติพร้อมอยู่เสมอ
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
เพราะมันมีโอกาสที่จะบรรลุธรรมอยู่ตลอดเวลา
อยู่ทุกสถานที่ เมื่อเราตั้งใจพิจารณาอยู่”

นี่คือปฏิปทาในการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
ไม่ใช่ทำเป็นเวลา แต่ต้องทำตลอดเวลา
อย่างที่หลวงพ่อท่านเรียกว่า “สติจำกาล”
ปฏิปทาที่ไม่ติดต่อสม่ำเสมอนั้นหลวงพ่อเปรียบเทียบว่า

“เหมือนหยดน้ำที่ไม่ต่อเนื่องกัน”

“น้ำที่เราหยดลงไปอย่างนี้ หยดห่าง ๆ ปั๊บ...ปั๊บ...ปั๊บ...
ถ้าเราเร่งความเร็วขึ้นหยดน้ำก็ถี่เข้า ๆ ปั๊บ...ปั๊บ...ปั๊บ...
เร่งขึ้นไปอีก มันก็ติดกันไหลเป็นสาย

สติของผู้ปฏิบัติที่ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่สม่ำเสมอ
ก็เหมือนหยดน้ำที่ยังไม่ต่อเนื่องกัน มันก็เป็นวรรคเป็นตอน
แต่ถ้าเราเร่งให้น้ำไหลเร็วขึ้น หยดน้ำก็หายไป กลายเป็นสายน้ำ

การฝึกสติของเราก็เช่นเดียวกัน
นาน ๆ นึกขึ้นได้ก็ตั้งสติเสียทีหนึ่ง
เราก็จะมีสติที่ขาดเป็นช่วง ๆ เหมือนหยดน้ำ

ถ้าเราพยายามระลึกรู้อยู่เสมอ
มีสติในทุกการที่ทำ คำที่พูด และความรู้สึกนึกคิด
เราก็จะเป็นผู้มีสติตลอดเวลา ไม่เผลอ
เหมือนหยดน้ำที่ต่อกันเป็นสายน้ำ”


(ที่มา : ธรรมอุปมา -พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) )



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น